จุฬาฯ ขยายเวลาความร่วมมือ การตรวจสอบการลอกเลียนวรรณกรรมด้วย “อักขราวิสุทธิ์ (พลัส)” กับ สถาบันการศึกษา หน่วยงานของรัฐและรัฐสาหกิจ
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม 2565 เวลา 13.30 - 14.00 น. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ การตรวจสอบการลอกเลียนวรรณกรรมด้วยโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ (พลัส) ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านโปรแกรม Zoom ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ จำนวน 87 แห่ง โดยมี นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานกล่าวเปิดงานและร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีฯ และรศ.ดร.ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ เป็นผู้กล่าวรายงาน โดยพิธีลงนามครั้งนี้เป็นการขยายระยะเวลาของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการฯ การใช้โปรแกรมอักขราวิสุทธิ์กับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ออกไปอีกเป็นเวลา 5 ปี จนถึงวันที่ 26 มีนาคม 2570
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ริเริ่มพัฒนาโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยตรวจสอบการลอกเลียนวรรณกรรมของบุคคลอื่นจนสำเร็จตั้งแต่ปี 2556 และในปี 2557 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีนโยบายอนุญาตให้สถาบันการศึกษา หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ ใช้งานโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยการทำความร่วมมือทางวิชาการฯ กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา มีสถาบันการศึกษา หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ ให้ความสนใจใช้โปรแกรมอักขราวิสุทธิ์และร่วมทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการฯ กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อขยายเครือข่ายความร่วมมือในการตรวจสอบการลอกเลียนวรรณกรรมในวิทยานิพนธ์ งานวิจัย และผลงานทางวิชาการ โดยใช้โปแกรมอักขราวิสุทธิ์ จำนวนทั้งสิ้น 150 แห่ง
นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในวันนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายทางวิชาการ ที่ใช้งานโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ในการตรวจสอบการลอกเลียนวรรณกรรมแล้ว ยังถือว่าเป็นการแสดงจุดยืน เจตนารมณ์ และความมุ่งมั่นของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ ต่อการแก้ไขปัญหาการลอกเลียนวรรณกรรม ที่กำลังเป็นปัญหาคุกคามอยู่ในแวดวงวิชาการในปัจจุบันนี้ และยังเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญในการปลูกฝังความซื่อสัตย์ ซึ่งเป็นคุณธรรมสำคัญของนิสิตนักศึกษา นักวิชาการ ทั้งในแวดวงการศึกษาและวงวิชาการต่าง ๆ รวมถึงการร่วมมือกันส่งเสริมและผลักดันเพื่อสร้างและขยายฐานข้อมูลอ้างอิง เพื่อการตรวจสอบการลอกเลียนวรรณกรรมของประเทศไทย ให้มีความแข็งแกร่งและเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไป เป็นสิ่งที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกสถาบันการศึกษา และหน่วยงานด้านการศึกษาและวิชาการ
รศ.ดร.ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ กล่าวว่าเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบกลไกการศึกษาของประเทศ บัณฑิตวิทยาลัย จึงมิได้หยุดนิ่งที่จะพัฒนาปรับปรุงระบบโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อต่อยอดไปสู่ความเป็น อักขราวิสุทธิ์ (พลัส) โดยมีการขยายฐานข้อมูล เช่น ฐานข้อมูลงานวิจัยกับศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย หรือ Thai-Journal Citation Index Centre (TCI) รวมไปถึงฐานข้อมูลสำคัญอื่น ๆ เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงในการตรวจสอบการลอกเลียนวรรณกรรมที่กว้างขวางยิ่งขึ้น
สำหรับพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ การตรวจสอบการลอกเลียนวรรณกรรมด้วยโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 นี้ มีสถาบันการศึกษา หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ ที่ร่วมมือและเข้าร่วมพิธีลงนามฯ จำนวน 87 แห่ง ประกอบด้วย สถาบันการศึกษาของรัฐ/ในกำกับของรัฐ/มหาวิทยาลัยราชภัฏ/มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล/เอกชน และหน่วยงานของรัฐ โดยมีหน่วยงานใหม่ที่เข้าร่วมทำความร่วมมือฯ อาทิ มหาวิทยาลัย สุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยราชธานี ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า นครราชสีมา
เอกสารแนบ :