บัณฑิตวิทยาลัย จัดเวิร์คชอป “เทคนิคการสำรวจตลาดและการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ครั้งที่ 2
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องประชุม 702 ชั้น 7 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (อาคารจามจุรี 10) บัณฑิตวิทยาลัย จัดโครงการอบรม “การศึกษาความเป็นไปได้และการจัดการหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิต” สำหรับอาจารย์จุฬาฯ ที่มีความสนใจและประสงค์จะสร้างรายวิชาเรียน หลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ตลอดชีวิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn Lifelong Learning Platform) ซึ่งมีอาจารย์จากคณะ/วิทยาลัย เข้าร่วมอบรม จำนวนกว่า 20 คน
โครงการอบรมครั้งนี้จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างบัณฑิตวิทยาลัย และบริษัท ดีกรีพลัส จำกัด เพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการศึกษาตลอดชีวิต ภายใต้โครงการบริการวิชาการ การจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต และสหวิทยาการ หรือ CUGS Academy เพื่อให้อาจารย์จุฬาฯ ที่จะสร้างรายวิชา และการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาตลอดชีวิต ได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Chula Lifelong Learning Ecosystem) การเทียบโอนรายวิชา
โดยมี รศ.ดร.ธิติ บวรรัตนารักษ์ รองคณบดีด้านบริหาร ยุทธศาสตร์ ทุนการศึกษาและวิจัย ได้บรรยายภาพรวมเกี่ยวกับการดำเนินการหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Chula Lifelong Learning Ecosystem) ระบบคลังหน่วยกิต ศ.ดร.เนาวนิตย์ สงคราม รองคณบดีด้านวิชาการ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้บรรยายเกี่ยวกับ "การเทียบโอนผลการเรียนรู้ตลอดชีวิตเข้าสู่ระบบคลังหน่วยกิต" เพื่อให้อาจารย์ได้เข้าใจและเตรียมความพร้อมในการเทียบโอนรายวิชาให้ครบถ้วนตามที่ระบบคลังหน่วยกิตกำหนด ต่อจากนั้นคุณวรพล รัตนพันธ์ General Manager & Co-founder บริษัท ดีกรีพลัส จำกัด ได้บรรยายแนะนำ "เทคนิคการสำรวจตลาดและการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิต" เมื่ออาจารย์จะเปิดรายวิชาใหม่หรือหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิตใหม่จะต้องดูอะไรบ้าง เทคนิคการสำรวจตลาด การค้นหาลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่ตรงกับรายวิชาที่จะเปิดสอน กระบวนการผลิต ช่องทางการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ถึงกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง และได้ให้ผู้เข้าอบรมร่วมทำกิจกรรมเวิร์คชอปด้วย
เขียนข่าว : อรพันธ์ จันทร์ใหม่
ถ่ายภาพ : ณัฐนันธน์ กัญจนปรัชญ์
เอกสารแนบ :