บัณฑิตวิทยาลัย รุก! ปรับกระบวนทัพพัฒนาหลักสูตรบัณฑิตศึกษาสู่ OBE รุ่น 2
บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ จัดโครงการสัมมนาและอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การพัฒนาหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาโดยมุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้เป็นฐาน (Outcome-Based Education; OBE) ตามเกณฑ์มาตรฐานระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2565" รุ่นที่ 2 ในวันที่ 18 - 20 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ แอนด์ สวีท ศรีราชา แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาที่เข้าร่วม จำนวน 17 สาขาวิชา 23 หลักสูตร
โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาหลักสูตรโดยมุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้และคุณลักษณะบัณฑิตที่หลักสูตรคาดหวัง และเพื่อร่างหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาตามมาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2565 เพื่อให้สอดคล้องกับผลลัพธ์การเรียนรู้ที่หลักสูตรกำหนด ให้แก่หลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักบริหารวิชาการ จุฬาฯ ในการเปิดงานสัมมนามี รศ.ดร.ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย และคณะกรรมการร่างกฎกระทรวงและกฎหมายลำดับรอง ว่าด้วยเกณฑ์มาตรฐานระดับหลักสูตรและคุณวุฒิ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวเปิดงานและบรรยายเรื่อง "การตรวจสอบการดำเนินการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา" และได้รับเกียรติจากทีมวิทยากร จำนวน 8 ท่าน ประกอบด้วย ศ.นพ.สุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล ประธานอนุกรรมการการจัดทำกฎหมายลำดับรองด้านมาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา ศ.พญ.จุไรพร สมบุญวงค์ รองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ด้านวิชาการ (กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพและกลุ่มวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี) WFME Assessor ของสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาแพทยศาสตร์ และ EdPEx Assessor ของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) รศ.ดร.วิมลวรรณ พิมพ์พันธุ์ คณะวิทยาศาสตร์ (AUN-QA Lead Assessor) ผศ.ดร.ธนสิน ชุตินธรานนท์ คณะนิเทศศาสตร์ (OBE & BCD Facilitator) ศ.ดร.เนาวนิตย์ สงคราม รองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ด้านวิชาการ (กลุ่มมนุษยศาสตร์/สังคมศาสตร์) ผศ.ทพ.ดร.ศุภชัย ชื่นจิตรวงษา ผู้ช่วยอธิการบดี งานด้านวิชาการ การเรียนการสอน และประกันคุณภาพหลักสูตร และ อ.นพ.วรพล จรูญวณิชกุล ผู้ช่วยอธิการบดี งานวิชาการด้านมาตรฐานหลักสูตรและนวัตกรรมหลักสูตร และนางสิริลักษณ์ ยอดแสง ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ บัณฑิตวิทยาลัย ได้ร่วมในการบรรยายเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาอย่างเข้มข้น
การอบรมเชิงปฏิบัติการครอบคลุมหัวข้อที่น่าสนใจ และยังประโยชน์ต่อการพัฒนาหลักสูตร เช่น แนวคิดการเรียนรู้ที่มุ่งผลลัพธ์ อนุกรมวิธานการเรียนรู้ การสำรวจความพึงพอใจผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของหลักสูตร รูปแบบการจัดการเรียนการสอนในยุคดิจิทัล แนวทางการเขียนปรัชญา วัตถุประสงค์และผลลัพธ์การเรียนรู้ การตรวจสอบความสอดคล้องผลลัพธ์การเรียนรู้ทุกระดับ ฯลฯ ซึ่งผู้เข้าร่วมการอบรมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแก้ไขปรับปรุงหลักสูตรพร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทีมวิทยากรอย่างใกล้ชิด
การสัมมนาครั้งนี้มีผู้รับผิดชอบหลักสูตร อาจารย์ประจำหลักสูตร และเจ้าหน้าที่หลักสูตร จำนวน 17 สาขาวิชา 23 หลักสูตร จากคณะครุศาสตร์ (7 สาขาวิชา) คณะศิลปกรรมศาสตร์ (4 สาขาวิชา) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (1 สาขาวิชา) คณะพยาบาลศาสตร์ (1 สาขาวิชา) คณะรัฐศาสตร์ (1 สาขาวิชา) คณะวิทยาศาสตร์ (1 สาขาวิชา) คณะเศรษฐศาสตร์ (1 สาขาวิชา) และบัณฑิตวิทยาลัย (1 สาขาวิชา) รวมจำนวน 41 คน ได้ร่วมกิจกรรมเพื่อเตรียมการสำหรับการพัฒนาหรือปรับปรุงหลักสูตรให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2565 ต่อไป
เอกสารแนบ :