งานปาฐกถาเกียรติยศ เวฬา ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับผู้เข้าอบรมหลักสูตรเวฬา รุ่นที่ 2
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยบัณฑิตวิทยาลัย และคณะแพทยศาสตร์ ร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และบริษัท ดีกรีพลัส จำกัด จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรสุขภาพระยะสั้นสำหรับผู้บริหารองค์กรด้านสุขภาพและการแพทย์ หลักสูตร “Vitality Enhancement and Longevity Academy (VELA)” รุ่นที่ 2 สำหรับผู้ประกอบการ หรือบุคลากรในระดับบริหารขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและบริการด้านสุขภาพ โดยได้จัดงานปาฐกถาเกียรติยศเวฬา ณ จุฬาลงกรณ์ฯ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ณ หอประชุมจุฬาฯ โดยมี ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการแทนอธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ศ.ดร.สถิรกร พงศ์พานิช ประธานอำนวยการหลักสูตรเวฬา เป็นผู้กล่าวรายงาน โดยได้รับเกียรติจากคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Healthy, Well-being, and Longevity: From Local to Global Wisdom” เพื่อถ่ายทอดวิสัยทัศน์ มุมมองแนวความคิดจากบุคคลชั้นนำของประเทศ สร้างความตระหนักรู้สู่สังคมให้มีความเข้าใจและรับทราบถึงวิทยาการล้ำสมัยด้านสุขภาพ และเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการนำวิทยาการความก้าวหน้าด้านต่าง ๆ มาใช้ในประเทศต่อไป
หลักสูตรเวฬา “Vitality Enhancement and Longevity Academy (VELA)” รุ่นที่ 2 มีผู้สนใจเข้ารับการอบรมจำนวน 99 คน ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูง ผู้ประกอบการ หรือบุคลากรในระดับบริหารขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและบริการด้านสุขภาพของประเทศไทย กำหนดจัดการอบรมทุกวันพุธ ระหว่างเดือนมิถุนายน – กันยายน 2567 เป็นระยะเวลา 4 เดือน โดยผู้เข้าอบรมหลักสูตรเวฬาจะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านศาสตร์สมัยใหม่เกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านสุขภาพและการแพทย์จากวิทยากรทั้งในประเทศและต่างประเทศในมิติต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไทยในการเป็น Medical Hub อย่างยั่งยืน
ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการแทนอธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสุขภาพและการแพทย์ซึ่งเป็นศาสตร์ที่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและมีความสำคัญยิ่งต่อประชาชน จึงได้ร่วมมือกันจัดหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) หลักสูตรเวฬา ผู้เข้าอบรมซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีหน้าที่รับผิดชอบขับเคลื่อนองคาพยพต่างๆ ของประเทศจะได้รับประโยชน์ 3 ประการ ได้แก่ การช่วยยกระดับมาตรฐานวิชาชีพบุคลากรทางการแพทย์ของประเทศไทย ช่วยระดมสมองพัฒนาส่งเสริมนวัตกรรมทางการแพทย์และการสาธารณสุข และช่วยเผยแพร่องค์ความรู้ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูและเวชศาสตร์ชะลอวัยให้กว้างขวางสู่สังคม เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้เพียงพอในการดูแลสุขภาพ และสุขภาวะของตนเองในเบื้องต้นได้ ซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและชะลอความเสี่ยงจากการเกิดโรคภัยไข้เจ็บ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันด้าน Medical Tourism ในเวทีโลกได้
ศ.ดร.สถิรกร พงศ์พานิช ประธานอำนวยการหลักสูตรเวฬา กล่าวว่า หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการแพทย์และสุขภาพ หลักสูตรเวฬา เน้นเรื่อง Longevity แก่ช้า อายุยืนอย่างมีคุณภาพ ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยความร่วมมือของบัณฑิตวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และบริษัท ดีกรีพลัส จำกัด โดยหลักสูตรจะเน้นการเรียนรู้แบบบูรณาการ 6 รูปแบบ ได้แก่ การอัปเดตเทรนด์ล่าสุดด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมด้านการแพทย์ เสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองด้านสุขภาพ นโยบายและเทคโนโลยี การจัดแสดงนวัตกรรมสุขภาพจากบริษัทชั้นนำของประเทศ การศึกษาดูงานวิจัย สินค้าและบริการจากมหาวิทยาลัยและบริษัทชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ การทำโครงการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ตลอดหลักสูตรให้ออกมาเป็นรูปธรรม และการสร้างเครือข่ายผู้นำด้านการแพทย์และสุขภาพเพื่อยกระดับประเทศไทยสู่ Medical Hub ของโลก หลักสูตรเวฬาได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสมัครเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมา
cr.https://www.chula.ac.th/news/161345/
เขียนข่าว : อรพันธ์ จันทร์ใหม่
ถ่ายภาพ : ณัฐนันธน์ กัญจนปรัชญ์
เอกสารแนบ :