จุฬาฯ กำลังพัฒนาโมเดลต้นแบบการจัดการขยะอาหารอย่างยั่งยืน
หลักสูตรสหสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัย ได้เข้าร่วมงาน “Chula Sustainability Fest 2022” เมื่อวันที่ 2-4 กันยายน 2565 ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งหลักสูตรฯ ได้ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยในรูปแบบโปสเตอร์ผ่านสื่อดิจิทัล ในหัวข้อความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยมี รศ.ดร.นุตา ศุภคต รองผู้อำนวยการหลักสูตรสหสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ และหัวหน้าโครงการวิจัย เป็นผู้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “นครนนท์โมเดลเพื่อการจัดการขยะอาหารอย่างยั่งยืน”
รศ.ดร.นุตา ศุภคต หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า “นครนนท์โมเดลเพื่อการจัดการขยะอาหารอย่างยั่งยืน” เป็นโครงการของอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ และนิสิตระดับปริญญาเอกของหลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาการจัดการขยะอาหารของเทศบาลนครนนทบุรี ที่ยังไม่มีระบบการจัดการและคัดแยกขยะมูลฝอยที่เหมาะสม การจัดการขยะปัจจุบันยังใช้วิธีการฝังกลบซึ่งอาจจะใช้พื้นที่ต่อได้อีกเพียง 2-3 ปี หากไม่มีระบบจัดการขยะอาหาร จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เทศบาลนครนนทบุรี และสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทสย.) เพื่อศึกษาและสร้างโมเดลการจัดการขยะอาหารของเทศบาลนครนนทบุรีให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต และได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2565 กลุ่มงานวิจัย Zero Waste และกลุ่มขยะ จากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยโครงการนี้มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals (SDGs) 4 ด้าน คือ ข้อ 2 ขจัดความหิวโหย ข้อ 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน ข้อ 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และข้อ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โครงการนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งมุ่งเน้นให้เทศบาลนครนนทบุรีมีการคัดแยกขยะอาหารเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้วยวิธีการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาโมเดลการจัดการขยะอาหารอย่างยั่งยืนที่คำนึงถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในพื้นที่ศึกษา เช่น คอนโดมิเนียม การลดปริมาณขยะอาหารที่นำไปทิ้งที่หลุมฝังกลบ ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมหรือแอปพลิเคชันการจัดการขยะอาหาร เหล่านี้เป็นสิ่งที่โครงการคาดหวังให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานหรือเทศบาลอื่น ๆ ในประเทศไทยนำไปปรับใช้ต่อไป
เอกสารแนบ :