งานแถลงผลความสำเร็จโครงการอบรมขับเคลื่อนการสื่อสารสาธารณะและสังคม (Care D+) ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2567 ณ หอประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี ด้านการติดตามและประเมินผลยุทธศาสตร์ แผน การงบประมาณ และสุขภาวะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดงานแถลงผลความสำเร็จโครงการอบรมขับเคลื่อนการสื่อสารสาธารณะและสังคม (Care D+) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาหลักสูตรออนไลน์เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารอย่างเห็นอกเห็นใจ ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศ ปัจจุบันโครงการ Care D+ เปิดตัวมาแล้ว 6 เดือน นับแต่เปิดตัวโครงการเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 และได้รับการตอบรับที่ดีจากบุคลการที่เข้าร่วมอบรมกว่า จำนวน 20,000 คน และมีผู้สนใจเข้าเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี ด้านการติดตามและประเมินผลยุทธศาสตร์ แผน การงบประมาณ และสุขภาวะ จุฬาฯ กล่าวว่า สธ. และ จุฬาฯ มีความมุ่งมั่นร่วมกันในการเสริมสร้างศักยภาพการสื่อสารให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ในการสร้างความเข้าใจกับผู้ป่วยและญาติเพื่อให้รู้สึกคลายกังวล สร้างความเข้าอกเข้าใจให้กับประชาชน และเกิดความร่วมมือที่ดีระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบบริการสาธารณสุข ความสำเร็จของโครงการ Care D+ สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการจัดการศึกษาแบบเรียนตลอดชีวิตเพื่อเสริมสร้างศักยภาพ (Upskill) และปรับทักษะ (Reskill) ให้กับบุคลากรในภาคส่วนต่าง ๆ จากความร่วมมืออย่างจริงจังของจุฬาฯ และกระทรวงสาธารณสุข ทางจุฬาฯ ได้เฝ้าติดตามความก้าวหน้าของโครงการ Care D+ ซึ่งพบว่ามีจำนวนผู้เข้าอบรมในโครงการอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้เข้าอบรมยังได้ความรู้และทักษะที่ได้รับไปปรับใช้ในงานบริการซึ่งนับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง ในนามของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอขอบคุณ พญ.นวลสกุล บำรุงพงศ์ ที่เป็นผู้ริเริ่มโครงการ Care D+ และให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการขยายผลการพัฒนาหลักสูตรเพื่อส่งเสริมทักษะการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ในทุกมิติของการบริการสาธารณสุขไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ต่อไป
รศ.ดร.สมิทธิ์ บุญชุติมา หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนวัตกรรมการสื่อสารและพัฒนาคุณภาพชีวิตและความยั่งยืน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ได้กล่าวนำเสนอความสำเร็จของหลักสูตรออนไลน์ Care D+ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีความมุ่งมั่นเพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อการดูแลผู้ป่วยและญาติด้วยความเข้าอกเข้าใจ เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่ดีระหว่างกันระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ จากเป้าหมายผู้เข้าอบรมและจบหลักสูตรว่าจะต้องครบ 1,000 คนภายใน 2 เดือน ครบ 10,000 คนใน 6 เดือน ผลปรากฏในความเป็นจริงพบว่า ภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือน ก็บรรลุตั้งเป้าหมาย 10,000 คน และมีผู้อบรมรวมทั้งสิ้น 20,000 คน และผู้เข้าเรียนได้นำความรู้ไปต่อยอดในการทำงานจริง ซึ่งเป็นตัวแทนหน่วยงานในการนำความรู้จากหลักสูตรออนไลน์ไปถ่ายทอดต่อ
จุฬาฯ ได้ทำการประเมินผลกระทบทางสังคม จากการสำรวจความพึงพอใจของผู้ป่วยและญาติต่อการสื่อสารของบุคลากร พบว่ามีความพึงพอใจถึงร้อยละ 77 - 86 ทั้งยังช่วยให้ผู้ป่วยมีความเข้าใจปฏิบัติตามคำแนะนำได้อย่างถูกต้อง ส่งผลให้การดูแลสุขภาพและการรักษาดีขึ้น ขณะเดียวกัน บุคลากรได้พัฒนาทักษะการสื่อสารและเข้าใจมุมมองของผู้ป่วยมากขึ้น และได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ทำให้ข้อร้องเรียนลดลงความพึงพอใจของผู้รับบริการเพิ่มขึ้น
ในส่วนของผลประเมินความคุ้มค่าด้วยผลตอบแทนจากการลงทุน พบว่า สามารถประหยัดงบประมาณค่าอบรมได้ 37 ล้านบาท เนื่องจากเป็นการอบรมแบบออนไลน์ และบุคลากรทางการแพทย์ไม่ต้องลาอบรม สามารถคืนเวลาให้ราชการได้ถึง 160,000 ชั่วโมง คิดเป็นมูลค่า 10 ล้านบาท ขณะที่มุมของสิ่งแวดล้อมสามารถช่วยกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการเดินทางได้ถึง 143 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ และทำให้ประหยัดค่าน้ำมันได้ถึง 8 ล้านบาท
ด้านผลกระทบด้านอารมณ์ของผู้ให้บริการ 3 ข้อ ได้แก่ 1. สร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ 2. ลดความเครียดและความเสี่ยงจากการถูกร้องเรียน และ 3. การพัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการทั้งในทันทีและในระยะยาว ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ปัจจัยด้านความสำเร็จ 4 ด้าน ได้แก่ 1. การออกแบบเนื้อหาและระบบการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบท ที่จุฬาและ สธ. ได้ร่วมกันออกแบบหลักสูตรนี้ขึ้นมา 2.กลไกสนับสนุนผู้เรียนที่ครอบคลุมทั้งระบบพี่เลี้ยง การตอบข้อซักถาม และกิจกรรมกระตุ้นการเรียนรู้ 3. ความร่วมมือจากผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการร่วมมือของผู้บริหารเป็นต้นแบบที่ดีทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีขวัญและกำลังใจในการดำเนินรอยตาม และ 4. มีระบบการรายงานติดตามและประเมินทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยมีการประเมินผลทันทีหลังจากผู้เรียนเรียนจบทั้ง 7 บทเรียนแล้ว รวมถึงการติดตามประเมินผลหน้างานจริงด้วย
อย่างไรก็ตามในข้อเสนอแนะของโครงการ 4 ข้อ ได้แก่ 1.การขยายผลและพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง 2.สร้างนโยบายและกลไกเชิงระบบเพื่อส่งเสริมการสื่อสารอย่างเห็นอกเห็นใจ 3.ยกย่องเชิดชูบุคลากรและหน่วยงานต้นแบบ และ 4. ในระดับองค์กรควรส่งเสริมกิจกรรมที่เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วยและญาติ เพื่อให้เราเข้าใจเขามากกว่าในห้องตรวจ
นอกจากนี้ในช่วงท้ายของงานยังการร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เล่าประสบการณ์ และประโยชน์ที่ได้รับจากการอบรมในโครงการนี้ จากผู้เข้าอบรมในหลักสูตรออนไลน์ Care D+ จำนวน 3 ท่าน ได้แก่ คุณอัญวีร์ เหล็กเพชร พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จังหวัดนนทบุรี ทันตแพทย์หญิง สุรีรัตน์ สูงสว่าง ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน จังหวัดน่าน และแพทย์หญิง คณางค์ ถูกฤทัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองโดน จังหวัดสระบุรี ซึ่งได้เล่าถึงความประทับใจจากการอบรมหลักสูตร Care D+ รวมถึงวิธีการในการวางกลยุทธ์ต่อไปในการนำหลักสูตรนี้เพื่อนำไปใช้ในเชิงปฏิบัติการกับบุคลากรในหน่วยงานอย่างเป็นจริงและต่อเนื่องได้ เพื่อสร้างการสื่อสารที่มีคุณภาพต่อไป
เขียนข่าว : อรพันธ์ จันทร์ใหม่
ถ่ายภาพ : ณัฐนันธน์ กัญจนปรัชญ์
เอกสารแนบ :